เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 เวลา 10.30 – 12.15 น. สนร. นำโดย พี่จ้อ - อท. ปจิตา ดิศกุล ณ อยุธยา พร้อมพี่ ๆ เจ้าหน้าที่ สนร. ทุกท่าน ได้ชวนน้อง ๆ นักเรียนทุนฯคลายเครียดด้วยการจัดกิจกรรม “OEADC Connected ครั้งที่ 3” ผ่าน Zoom เพื่อพูดคุยกันในหัวข้อ “เครียดฉ่ำ ทำไงดี” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรพิเศษ คือ คุณโดม ธิติภัทร รวมทรัพย์ นักจิตวิทยาบำบัด ซึ่งเชี่ยวชาญด้านศิลปะบำบัดมาร่วมให้คำแนะนำเกี่ยวกับการรู้เท่าทันความเครียด การฝึกการจัดการความเครียด รวมไปถึงความเครียดที่เกิดจากการเรียนด้วย โดยคุณโดมนั้นสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาจิตวิทยา (คลินิก) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโท MA Art Psychotherapy at Goldsmiths จาก University of London เป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับความเครียด การสื่อสาร ปัญหาการหมดไฟในการทำงาน การทำ Workshop การใช้ศิลปะบำบัด เป็นต้น อีกทั้งเป็นเจ้าของ เพจ he, art, psychotherapy ที่มีความฝันอยากเปลี่ยนแปลงสังคมไทยเกี่ยวกับเรื่องจิตวิทยาและจิตบำบัด ทำให้คนทั่วไปเข้าใจและสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยในกิจกรรมนี้มีน้องๆ นักเรียนทุนมาเข้าร่วมพูดคุย รับฟังจำนวน 20 กว่าราย
พี่จ้อได้เริ่มต้นด้วยการแนะนำที่มาของหัวข้อกิจกรรมในครั้งนี้ และยกตัวอย่างให้น้อง ๆ ได้เห็นว่าความเครียดเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย แต่อาจจะมากน้อยต่างกัน และหากน้องคนใดต้องการระบายความเครียด ความกังวล หรือปรึกษาเรื่องใด ๆ กับใครสักคน ก็อยากให้นึกถึงครอบครัวที่สองของน้อง คือ สนร. ซึ่งมีพี่ ๆ ที่ยินดีรับฟังและให้คำปรึกษาแก่น้อง ๆ ในทุก ๆ เรื่อง ไม่เพียงแต่เรื่องเรียน และยังได้คาดหวังให้น้อง ๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางการจัดการความเครียดจากวิทยากรพิเศษในวันนี้ เพื่อนำไปใช้กับตัวเองในการลดความเครียด จะได้มีภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ที่ดีและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
จากนั้น คุณโดม ได้มาให้ความรู้เกี่ยวกับต้นตอของความเครียดที่เกิดจากการที่สมองส่วนสัญชาตญาณรับรู้ถึงภัยคุกคามและหลั่งฮอร์โมนเครียด (Cortisol and Adrenaline) ซึ่งส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเราสามารถสังเกตอาการเครียดที่เกิดขึ้นได้ จากการที่หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก มีเหงื่อออก หายใจผิดจังหวะ เร็วขึ้นหรือลืมหายใจ ไม่มีสมาธิ ประสาทสัมผัสตื่นตัว หรือกล้ามเนื้อเกร็ง เป็นต้น และเมื่อเกิดอาการเครียดแล้วเราจะทำอะไรบางอย่างกับร่างกายเพื่อส่งสัญญาณไปยังสมองว่าเราปลอดภัย แล้วร่างกายก็จะออกจากภาวะเครียด แต่หากไม่สามารถออกจากความเครียดได้ก็จะเกิดภาวะความเครียดสะสม อาจก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ต่างไปจากเดิม เช่น การกินที่มีปริมาณความถี่ผิดปกติ การนอนที่เปลี่ยนไป ความรู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย อาการทางอารณ์ที่หงุดหงิด อารมณ์เสีย ซึม ๆ มีสมาธิสั้นลง พฤติกรรมการเข้าสังคมเปลี่ยนไป หรือมีการใช้สารเสพติดเพิ่มขึ้น เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการ Burnout และสุดท้ายนำไปสู่การเป็นโรคจิตเวท เช่น Anxiety, Panic, Depression เป็นต้น ดังนั้น จึงขอให้หมั่นสังเกตตัวเองว่ามีความเครียดอยู่ในระดับไหนแล้ว เพื่อจะได้แก้ไขได้ทันท่วงทีนอกจากนี้ คุณโดมยังได้ทำ Small Workshop โดยการให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมองภาพ ๆ หนึ่ง และให้แชร์ว่าเห็นอะไรในภาพดังกล่าว ซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปว่าคนส่วนใหญ่มักจะคิดไปมากกว่าสิ่งที่เห็นทำให้เกิดความกังวลและเครียด จากนั้นได้ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนั่งหลับตา 5 นาที และจินตนาการถึงสถานที่ที่มีแต่ตัวเรา มีความสงบ ปลอดภัย โดยค่อย ๆ เติมรายละเอียดภาพลงไปในจินตนาการของเรา เพื่อเป็นการฝึกจิตของเราให้สงบ และในตอนท้ายคุณโดมได้สรุปแนวทางแก้ปัญหาความเครียดโดยการให้รู้จักตนเอง ไม่ให้มุ่งไปที่ความสำเร็จอย่างเดียว ให้มองถึงตัวตนของเรา พร้อมทั้งยอมรับและเห็นคุณค่าในตัวตนของเรา รวมถึงการหาพื้นที่และให้เวลาอยู่กับตัวเอง สังเกตความรู้สึกของเราอยู่เสมอ ค่อย ๆ ทบทวนและอธิบายว่าความรู้สึกนี้มาจากที่ไหน โดยที่ไม่ตัดสินประสบการณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ให้ค่อย ๆ ทำความเข้าใจและยอมรับ จากนั้นก็ได้เปิดโอกาสให้น้อง ๆ นักเรียนทุนได้ซักถามและแชร์ประสบการณ์
สุดท้าย พี่เคเร็นและพี่ฐิติมาจากหน่วยนักเรียน สนร. ก็ได้มาให้คำแนะนำเกี่ยวการหาที่ปรึกษาเมื่อเกิดความเครียด โดยอาจเริ่มจากการนัดพบ Counselor ของสถานศึกษา หรือไปพบ Psychologist/ Psychiatrist ที่เป็น In-network ของบริษัทประกันสุขภาพที่น้อง ๆ ใช้อยู่ โดยค้นหารายชื่อของแพทย์/สถานพยาบาล In-network ได้จากเว็บไซต์ของบริษัทประกันสุขภาพ และติดต่อเพื่อขอนัดพบ พร้อมทั้งได้แนะนำให้น้อง ๆ จัดทำรายการข้อกังวลที่ต้องการพูดคุยไว้ล่วงหน้า เพื่อให้แน่ใจว่าได้ถามและทราบแนวทางแก้ไขทุกข้อสงสัย นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำเรื่องการไปพบแพทย์/สถานพยาบาลที่อยู่ใน In-network เพื่อจะได้ครอบคลุมค่ารักษาทั้งหมด มิเช่นนั้นน้อง ๆ อาจต้องจ่ายค่ารักษาเองบางส่วน และอาจไม่สามารถขอเบิกกับ สนร. ได้
สนร. ขอขอบคุณน้อง ๆ ทุกท่านที่ได้สละเวลามาเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว หวังว่าจะได้เจอกันใหม่เร็วๆ นี้กับกิจกรรมดีๆ ที่ สนร. จะจัดในครั้งต่อไปนะคะ