กรุณาระบุคำค้นหาที่ท่านต้องการ
ประวัติทุนเล่าเรียนหลวง และทุนรัฐบาล
06/19/2021
9,703
Post Content Image

ประวัติทุนเล่าเรียนหลวง และทุนรัฐบาล

การพัฒนาคนโดยการให้ทุนไปศึกษาหรือฝึกอบรมในต่างประเทศมีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีจนถึงปัจจุบัน จุดหมายเพื่อให้ผู้รับทุนได้เพิ่มพูนความรู้ สั่งสมประสบการณ์ และนำความรู้และประสบการณ์ที่รับ มาปรับใช้พัฒนาประเทศและสังคมไทย

ระยะแรก ไทยเราส่งคนไปศึกษาฝึกอบรมในต่างประเทศเพียงไม่กี่ด้าน และส่งไปเพียงไม่กี่ประเทศ แต่ปัจจุบันเราส่งคนไปศึกษาฝึกอบรมในทุกด้าน ครอบคลุม 40 กว่าประเทศ

สมัยกรุงสุโขทัย

ในสมัยกรุงสุโขทัย ราชการส่งคณะสงฆ์ไปศึกษาและฝึกอบรมทางพุทธศาสนาที่ประเทศลังกา และส่งไปเรียนการทำชามสังคโลกที่ประเทศจีน

สมัยกรุงศรีอยุธยา

ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ราชการส่งคนไปประเทศฝรั่งเศสเพื่อศึกษาวิทยาการสมัยใหม่ ได้แก่ วิชาการทำน้ำพุ วิชาก่อสร้าง วิชาช่างเงินและช่างทอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมของผู้ดีฝรั่งเศส

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ราชการส่งคนไปศึกษาวิชาการเดินเรือที่ประเทศอังกฤษ โดยส่งสามัญชน ชื่อ "นายฉุน"

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ราชการส่งนักเรียนทุน "นายทด บุนนาค" และ "นายเทศ บุนนาค" ไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ โดยส่งไปพร้อมกับคณะทูตไทยเมื่อ พ.ศ. 2400 นอกจากนักเรียนแล้ว ราชการยังส่งข้าราชการไปศึกษาวิชาชีพเฉพาะ เช่น การพิมพ์ และการซ่อมนาฬิกา ส่งข้าราชการไปดูงานในต่างประเทศทางด้านการปกครองและบำรุงบ้านเมืองที่ประเทศสิงคโปร์ในปี พ.ศ. 2404 ด้วย

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ราชการส่งนักเรียนไทยจำนวน 206 คน ไปศึกษาในประเทศที่เป็นต้นแบบของวิชาการแต่ละด้าน เช่น อังกฤษ เยอรมัน ออสเตรีย ฮังการี เดนมาร์ก และฝรั่งเศส โดยเน้นให้ไปศึกษาภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมันคณิตศาสตร์ และวิชาตามที่นักเรียนถนัด เช่น วิชาทหารบก ทหารเรือ การทูต กฎหมาย แพทย์ และวิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น ในสมัยนี้ เริ่มมีการแบ่งนักเรียนทุนเป็น 2 ประเภท คือ นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง และนักเรียนทุนตามความต้องการของกระทรวง นอกจากนี้ ยังเริ่มมีการสอบแข่งขันเพื่อรับทุนด้วยอย่างเป็นกิจลักษณะด้วย

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ราชการส่งนักเรียนไทยไปศึกษาต่างประเทศ จำนวน 304 คน ต่อมาเนื่องจากปัญหาทางฐานะทางการเงินการคลังของประเทศในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 กรรมการองคมนตรีและสภาการคลัง จึงได้ลงมติในปี พ.ศ. 2465 ให้งดส่งนักเรียนทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อต่างประเทศเป็นการชั่วคราว ยกเว้นทุนเล่าเรียนหลวงที่ยังคงให้มีการจัดส่งต่อไป

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ราชการได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการในการคัดเลือก การดูแลจัดการศึกษาของนักเรียนทุนรัฐบาลให้เป็นระบบและรัดกุมยิ่งขึ้น โดยมีคณะกรรมการรักษาพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ก.ร.พ.) เป็นผู้รับผิดชอบคัดเลือก จัดการดูแลการศึกษาของนักเรียนทุนหลวงฝ่ายพลเรือนในต่างประเทศ และต่อมาในปี 2476 ก็เปลี่ยนเป็นคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นผู้รับผิดชอบแทน ในช่วงหลังนี้ ได้มีการพักการให้ทุนเล่าเรียนหลวงไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้มีทุนเล่าเรียนหลวงขึ้นมาอีกครั้งในปี 2507 และเพิ่มจำนวนทุนเล่าเรียนหลวงจากปีละ 2 ทุน เป็น 9 ทุน และนอกจากทุนเล่าเรียนหลวงแล้ว ยังได้มีการขยายทุนเป็นทุนรัฐบาลประเภทอื่นให้หลากหลาย ครอบคลุมกลุ่มคนต่าง ๆ เช่น นักเรียนในต่างจังหวัด นักเรียนผู้ด้อยโอกาสเนื่องจากความผิดปกติทางร่างกาย เป็นต้น

ปัจจุบัน ก.พ. โดยสำนักงาน ก.พ. เป็นหน่วยงานที่ดูแลจัดการนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง และนักเรียนทุนรัฐบาลต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าทั้งนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง และนักเรียนทุนรัฐบาล จะสำเร็จการศึกษาและกลับมาปฏิบัติงานในประเทศไทยตามข้อกำหนดของแต่ละประเภททุนได้

ที่มา :

  1. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, วิวัฒนาการของสำนักงาน ก.พ. พ.ศ.2471 - 2540 กรุงเทพมหานคร : สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, 2540
  2. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, วิวัฒนาการของนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงและนักเรียนทุนรัฐบาล กรุงเทพมหานคร : สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, 2540

หมายเหตุ เนื้อหาในหน้านี้ ได้รับการปรับแต่งจากที่ปรากฎบนเว็บไซต์ สำนักงาน ก.พ. www.ocsc.go.th